เมาแล้วขับ หากทำผิดซ้ำเจอโทษปรับสูงถึง 100,000 บาท

September 10, 2022 รถยนต์ เมาแล้วขับ หากทำผิดซ้ำเจอโทษปรับสูงถึง 100,000 บาท

     “ดื่มนิดหน่อย” คงเป็นประโยคที่นักดื่มหลายท่านคงบอกกับตนเองบ่อยครั้งก่อนที่จะพบว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะทำให้รถยนต์เกิดความเสียหาย อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันอีกด้วย

     สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แจ้งกฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2565 เป็นต้นไป โดยที่เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหา เมาแล้วขับ โดยรายละเอียดมีดังนี้ครับ

  • ทำผิดในครั้งแรก โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ทำผิดซ้ำในครั้งที่ 2 ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำผิดในครั้งแรก เพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000 - 100,000 บาท และที่สำคัญ ศาลจะลงโทษจำคุกและปรับ อีกทั้งยังถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ทั้งนี้ ศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ (มาตรา 160 ตรี/1 และมาตรา 160 ตรี/3)

สงกรานต์ เมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุมีโทษหนัก -  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

     นอกจากนี้ ยังเพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยงในการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง โดยเพิ่มอัตราโทษปรับ เช่น 

ขับรถเร็วเกินกำหนด, ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง, ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
ขับรถย้อนศร, ไม่สวมหมวกนิรภัยปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ไม่รัดเข็มขัดนิรภัยปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)

     เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น อัตราโทษเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติจราจรทางบก ฉบับที่ 13

 

เมาแล้วขับ ประกันภัยรถยนต์จ่ายหรือไม่?

     แบ่งออกเป็น 2 แนวทางเนื่องจาก ประกันภัยรถยนต์มีทั้ง พ.ร.บ.รถยนต์ หรือ ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ แต่ละประเภทจะมีเงื่อนไขในการคุ้มครองที่แตกต่างกัน

กรณีที่ 1 พ.ร.บ.รถยนต์ คือคุ้มครองผู้เอาประกันภัยรถยนต์และคู่กรณี โดยไม่พิสูจน์ความถูกหรือผิด ซึ่งจะจ่ายเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่ารักษาพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ พ.ร.บ.จะไม่คุ้มครองในส่วนนี้นะครับ
กรณีที่ 2 ถ้าแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ประกันภัยรถยนต์จะคุ้มครองทั้งผู้เอาประกันและฝ่ายเสียหาย แต่ถ้าแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประกันภัยรถยนต์จะไม่คุ้มครองผู้เอาประกัน แม้จะซื้อประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ก็ตามนะครับ

 

     อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดนอกจากจะไม่ต้องเสียค่าปรับโดยใช่เหตุแล้วยังทำให้เกิดความปลอดภัยขณะขับขี่บนท้องถนนต่อตนเองและผู้อื่นอีกด้วย