เช็คใบสั่งจราจรผ่านออนไลน์ด้วยตนเองได้แล้ว!

August 31, 2022 รถยนต์ เช็คใบสั่งจราจรผ่านออนไลน์ด้วยตนเองได้แล้ว!

     หลังจากที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายจราจร และไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยมาตรการดังกล่าว สามารถตรวจสอบย้อนหลังใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความ (ระยะเวลา 1 ปี) โดยเน้นกรณีกระทำผิดซ้ำบ่อยครั้ง

 

กฏหมายใบสั่งจราจรล่าสุด

  1. เจ้าพนักงานจราจรออกใบสั่งให้กับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 ทั้งแบบความผิดซึ่งหน้าและความผิดที่ตรวจจับด้วยกล้องตรวจจับการกระทำความผิด ระยะเวลาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
  2. กรณีผู้กระทำความผิดไม่มาชำระค่าปรับ เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งแต่ละประเภท เจ้าพนักงานจราจรจะออกหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง (ใบเตือน) โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดชำระค่าปรับในใบสั่ง โดยให้ถือว่าเจ้าของ/ผู้ครอบครองได้รับแจ้งเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ส่ง และต้องชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
  3. กรณีพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบเตือน และผู้กระทำความผิดยังไม่มาชำระค่าปรับ นอกจากการส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบกเพื่อดำเนินการตามมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีแล้ว พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อให้มาชำระค่าปรับ หากไม่มาพบตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะ ยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่เพื่อออกหมายจับ
  4. กรณีถูกออกหมายเรียก หรือหมายจับ ผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตามข้อหาที่ผู้ต้องหากระทำผิดตามใบสั่ง และความผิดข้อหาตามมาตรา 155 “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ม.141 ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ณ สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียก หมายจับไม่สามารถชำระผ่านช่องทางต่างๆ ตามข้อ 2. ได้
  5. ผลของการถูกออกหมายจับในคดีอาญา เมื่อถูกออกหมายจับแล้ว จะถูกบันทึกในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวบุคคลที่มีหมายจับได้ทั่วราชอาณาจักร โดยใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมฐานข้อมูล
  • หากบุคคลที่มีหมายจับเดินทางออกนอกประเทศจะถูกจับ และเกิดความยากลำบาก ในเรื่องการเดินทาง
  • ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติซึ่งอาจส่งผลต่อการประกอบอาชีพการทำงาน กรณีที่หน่วยงานสอบถามประวัติคดีอาญาว่าเป็นบุคคลที่มีหมายจับ
  • เกิดความยากลำบากและความน่าเชื่อถือในการทำนิติกรรม
ใบสั่งจราจร

     จากการที่ บ.ช.น. ได้หาแนวทางให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งได้ข้อสรุปในการดำเนินการคือ เมื่อพบผู้กระทำผิดจะออกใบสั่ง 3 รูปแบบ ได้แก่

  • การเขียนใบสั่งเล่ม
  • ใบสั่งจากภาพกล้องวงจรปิดส่งไปทางไปรษณีย์
  • ใบสั่งจากเครื่อง E-TICKET (ใบสั่งออนไลน์)

     ผู้ขับขี่หากสงสัยว่าตนเองมี “ใบสั่งออนไลน์” ที่ค้างชำระหรือไม่ สามารถตรวจสอบผ่านช่องทางใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชนที่เว็บไซต์ ptm.police.go.th

 

วิธีตรวจสอบใบสั่งจราจรออนไลน์

  1. ลงทะเบียนผู้ใช้งานเว็บไซต์ http://ptm.police.go.th โดยใช้หมายเลขบัตรประชาชน / หมายเลขใบขับขี่หรือหมายเลขทะเบียนรถ
  2. เข้าสู่ระบบด้วยหมายเลขบัตรประชาชน และรหัสผ่านที่ตั้งไว้
  3. ค้นหาใบสั่งโดยระบุวันที่กระทำผิด เลือกปุ่ม “ค้นหา” (สามารถกรองข้อมูลด้วยเลขทะเบียนรถหรือหมายเลขใบสั่งได้)
  4. หน้าจอจะปรากฏรายการใบสั่งที่เคยได้รับ สามารถคลิกดูรายละเอียดของใบสั่งแต่ละฉบับได้ (กรณีได้รับใบสั่งมากกว่า 1 คัน จะปรากฏรายการทั้งหมดภายใต้ชื่อผู้ครอบครองคนเดียวกัน)

     ส่วนการชำระค่าปรับตามใบสั่งจราจรที่ตรวจสอบสถานะผ่านเว็บไซต์ สามารถชำระได้ผ่านหลากหลายช่องทางโดยกำหนดระยะเวลาสำหรับการชำระใบสั่งก็คือภายใน 30 วันนับตั้งแต่ได้รับใบสั่ง โดยช่องทางการชำระค่าปรับ ได้ดังนี้

  • ชำระค่าปรับทางช่องทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Krungthai NEXT ของธนาคารกรุงไทย
  • ชำระที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน
  • ชำระผ่านสาขาของธนาคารกรุงไทย
  • ชำระผ่านตู้ ATM ADM ธนาคารกรุงไทย
  • ชำระผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขา
  • ชำระผ่านจุดรับชำระเงิน เช่น ตู้บุญเติม หรือ CenPay เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : กองบัญชาการตำรวจนครบาล

 

     ทั้งนี้หากผู้ขับขี่ได้รับใบสั่งจราจรมาก็ควรดำเนินการชำระให้เรียบร้อยโดยเลือกช่องทางที่สะดวกที่สุดและควรชำระภายในเวลาที่กำหนด แต่หากใครไม่มั่นใจว่าตนเองได้ใบสั่งมาหรือไม่ ก็สามารถตรวจสอบได้ผ่านวิธีข้างต้นนะครับ