ดีเดย์ 9 มกราคม 2566 เริ่มใช้ระบบตัดคะแนน! เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน

December 10, 2022 รถยนต์ ดีเดย์ 9 มกราคม 2566 เริ่มใช้ระบบตัดคะแนน! เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน

     เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และพันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.วีระ จิรวีระ รอง จตช. และผู้บริหารของทั้ง 4 หน่วยงาน

      ร่วมแถลงข่าวระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ หรือระบบตัดแต้ม เปิดเผยว่า “ระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถกำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565"  ซึ่งออกตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 142/1 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2566 โดยมี 6 เรื่องต้องรู้ก่อนนะครับ

 

6 เรื่องต้องรู้

  1. ขับรถต้องมีใบขับขี่ โดยผู้ขับขี่ทุกคนมี 12 คะแนน
  2. ทำผิดกฎจราจร ใน 20 ฐานความผิดที่อาจก่ออุบัติเหตุหรือไม่ชำระค่าปรับจราจรถูกตัดคะแนนตั้งแต่ 1 - 4 คะแนน
  3. หากถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 จะถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน
  4. ฝ่าฝืนขับรถในช่วงถูกพักใบขับขี่ มีโทษจำคุก 3 เดือน และ/หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  5. คืนคะแนนได้ ด้วยการเข้าอบรมกับกรมการขนส่งทางบกหรือรอให้ครบ 1 ปี จะได้คะแนนคืนอัตโนมัติ
  6. หากถูกพักใช้ใบขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายในรอบ 3 ปี อาจถูกพักใช้ใบขับขี่มากกว่า 90 วัน และหลังจากนั้น ภายใน 1 ปี หากถูกตัดคะแนนอีกจนถูกพักใช้ใบขับขี่เป็นครั้งที่ 4 อาจถูกเพิกถอนใบขับขี่ทุกประเภท

 

     ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับใบอนุญาตขับขี่กี่ชนิดก็ตาม หากทำผิดตามกฎจราจรในข้อหาที่ระบุไว้จะถูกตัดคะแนนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด 

 

ตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ

ตัด 1 คะแนน

  • ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ
  • ไม่สวมหมวกกันน็อค
  • ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
  • ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด
  • ขับรถบนทางเท้า
  • ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย
  • ไม่หลบรถฉุกเฉิน
  • ขับรถโดยประมาทน่าหวาดเสียว
  • ขับรถไม่ติดป้ายทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงปิดบัง
  • ไม่ติดป้ายภาษี

ตัด 2 คะแนน

  • ขับรถฝ่าไฟแดง
  • ขับรถย้อนศร
  • ขับรถในระหว่างโดนพักใช้หรือเพิกถอนใบขับขี่

ตัด 3 คะแนน

  • ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ
  • ขับผิดวิสัยคนขับรถธรรมดา
  • ขับรถชนแล้วหนี

ตัด 4 คะแนน

  • เมาแล้วขับ
  • ขับรถในขณะเสพยาเสพติด
  • แข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น

 

     ความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ออกใบสั่ง 42 ฐานความผิด จะถูกตัดคะแนนเฉพาะกรณีไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งในเวลาที่กำหนดเท่านั้น

 

ตัดคะแนนในการขับรถ

     ตัดคะแนนเมื่อไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง เช่น

  • ฝ่าฝืนเครื่องหมายในทาง
  • ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่
  • ขับรถไม่ชิดซ้าย
  • จอดในที่ห้ามจอด

*ค้างชำระ 1 ใบสั่ง ตัด 1 คะแนน

     วิธีการตัดคะแนนดำเนินการโดยใช้ระบบฐานข้อมูลใบสั่ง PTM ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือห้ามขับรถทุกประเภทเป็นเวลา 90 วัน โดยมีหนังสือแจ้งคำสั่ง หากฝ่าฝืนขับรถขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายใน 3 ปี อาจถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่มากกว่า 90 วัน หากถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่อีกเป็นครั้งที่ 4 ต้องถูกพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ทันที

 

คะแนนถูกตัด สามารถคืนคะแนนได้

     คะแนนที่ถูกตัดในแต่ละครั้ง เมื่อครบ 1 ปี ได้คืนอัตโนมัติ

อบรมกับกรมการขนส่งทางบก

  • เมื่อคะแนนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน เข้าอบรมเพื่อคืนคะแนนได้ แต่ทำได้ปีละ 2 ครั้ง เท่านั้น
  • อบรมครั้งแรกได้คืนไม่เกิน 12 คะแนน ครั้งที่ 2 ได้คืนไม่เกิน 6 คะแนน

กรณีคะแนนเหลือ 0 จนถูกสั่งพักใบขับขี่ 90 วัน หากเข้าร่วมการอบรม

  • อบรมผ่านจะได้คืน 12 คะแนนทันที
  • อบรมไม่ผ่าน/ไม่เข้ารับการอบรม จะได้คืนเพียง 8 คะแนน หากครบ 1 ปี ไม่ทำผิดกฎจราจรอีก จะได้คืน 4 คะแนนที่เหลือ

 

ช่องทางการตรวจสอบคะแนน

  1. เว็บไซต์ E-Ticket PTM ซึ่งพัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) สามารถตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ จ่ายค่าปรับ ตรวจสอบคะแนนความประพฤติและตรวจสอบสถานะใบขับขี่
  2. แอปพลิเคชัน ขับดี (KHUB DEE) ซึ่งพัฒนาโดย NT เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสาร ตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ คะแนนความประพฤติ และดำเนินการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่อันเป็นประโยชน์ต่างๆ ที่ทันสมัย
  3. แอปพลิเคชัน เป๋าตัง ให้บริการชำระค่าปรับผ่านระบบออนไลน์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ