เกิดเหตุรถชน คู่กรณีเรียกค่าทำขวัญต้องทำอย่างไร?

July 06, 2023 รถยนต์ เกิดเหตุรถชน คู่กรณีเรียกค่าทำขวัญต้องทำอย่างไร?

     ใช้รถใช้ถนนอยู่ทุกวันย่อมมีความเสี่ยง ต่อให้มีสติ ขับรถไม่ประมาท แต่ก็มีเหตุอื่นๆ ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนได้ เช่น ขับรถช่วงหน้าฝน เบรครถยนต์เกิดขัดข้อง อาจจะส่งผลเสียให้รถยนต์เกิดประสานงานกัน เหตุการณ์แบบนี้มันสามารถเกิดได้โดยเราไม่ทันตั้งตัว และหากว่าคุณเป็นฝ่ายผิดแล้วคู่กรณีเรียกร้องค่าทำขวัญต้องทำอย่างไร แล้วประกันจะจ่ายให้หรือไม่?

     คู่กรณีเรียกค่าทำขวัญ = ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น ถ้าหากรถของเรา หรือ คู่กรณีมีการทำประกันเอาไว้ทั้งคู่ บริษัทประกันจะเข้ามาไกล่เกลี่ยค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นในพ้นที่เกิดเหตุ และตรวจสอบความคุ้มครองที่เราได้ทำประกันเอาไว้เพื่อให้ครอบคลุมกับสภาพแวดล้อม

ประมาทสองฝ่ายหรือประมาทร่วม ใครต้องรับผิดชอบกันแน่

การเรียกร้องค่าทำขวัญ

     โดยทั่วไปบริษัทประกันจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่างๆ รวมถึงการสูญเสียรายได้ แต่! กฏมายไม่มีค่าทำขวัญ โดยทางบริษัทประกันจะจ่ายตามค่ารักษาจริง และค่าขาดประโยชน์ที่พิสูจน์ได้เท่านั้น 

สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้

  • ค่ารักษาพยาบาล / ค่ายา / ค่าปรึกษาหมอ
  • เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ
  • ทุพพลภาพ
  • ค่าปลงศพ (กรณีเสียชีวิต)
  • ค่าขาดประโยชน์ในการหารายได้ (กรณีต้องพักรักษาตัวนาน)
  • ความเสียหายต่อทรัพย์สิน
  • ค่าขาดผลประโยชน์ต่อการใช้รถ

ค่าเสียหายของยานพาหนะจากอุบัติเหตุรถชน

     เมื่อมีอุบัติเหตุรถชนกันยานพาหนะจะต้องเสียหายอยู่แล้ว ซึ่งคู่กรณีที่เป็นฝ่ายถูกจะเรียกร้องค่าเสียหายเกี่ยวกับยานพาหนะทันที ถ้าหากรถเราไม่มีประกันภัยก็ต้องคุยกับคู่กรณีให้รู้เรื่องว่าจะนำเงินมาชดใช้ค่าเสียหาย แต่ถ้าหากคุณมีประกันภัยก็รอให้เจ้าหน้าที่ประกันไปถึงที่เกิดเหตุแล้วค่อยทำการไกล่เกลี่ยค่าเสียหายจากยานพาหนะในลำดับต่อไป

ค่ารักษาพยาบาลและค่ารักษาตัวของคู่กรณีหลังจากเกิดอุบัติเหตุรถชน

     เมื่อซื้อรถยนต์แล้วก็ต้องซื้อ พ.ร.บ.รถยนต์ คู่กันมาด้วย เพราะประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ให้รถทุกคันต้องมี แต่เวลาเกิดอุบัติเหตุรถชนขึ้นมาความคุ้มครองจาก พ.ร.บ. รถยนต์อาจจะไม่พอ ซึ่งในส่วนของประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจจะเป็นตัวช่วยจ่ายค่าเสียหายในส่วนเกินจาก พ.ร.บ. รถยนต์ โดยความคุ้มครองขึ้นอยู่กับว่ารถของคุณซื้อประกันภัยรถยนต์ชั้นไหนไว้

ค่าทรัพย์สินเสียหายหรือสูญเสียขณะเกิดอุบัติเหตุ

     คู่กรณีจะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถได้แล้วยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากทรัพย์สินต่างๆ ที่อยู่ในรถได้อีกด้วย เช่น โน้ตบุ๊กพัง โทรศัพท์มือถือ กล้อง เป็นต้น แต่การชดเชยค่าเสียหายของประกันภัยรถยนต์จะพิจารณาจากค่าเสื่อมสภาพของทรัพย์สิน แถมยังต้องพิสูจน์ว่าคู่กรณีเป็นเจ้าของด้วยไหม ซึ่งเรื่องนี้ถ้ารถของคุณมีประกันภัยรถยนต์ ทางจ้าหน้าที่บริษัทประกันก็จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้คุณเอง

ค่าเสียหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงจากอุบัติเหตุ

     อุบัติเหตุที่เกิดจากรถยนต์จะมีความเสียหายเป็นวงกว้างมากๆ ไม่ใช่แค่รถยนต์เสียหายหรือมีคนบาดเจ็บเท่านั้น แต่ยังทำให้คู่กรณีเสียโอกาสอื่นๆ ไปด้วย คู่กรณีมีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายอื่นได้อีก เช่น 

  • ค่าขาดประโยชน์จากรถยนต์ : คู่กรณีอาจต้องใช้รถยนต์ขับไปทำงานในทุกวัน เมื่อคู่กรณีหายดีแล้วแต่ไม่มีรถใช้เพราะกำลังซ่อมอยู่จึงจำเป็นต้องเดินทางด้วยวิธีอื่น คุณก็ต้องจ่ายค่าเสียหายอื่นด้วย
  • ค่ารถลากไปซ่อม : หากขับรถชนเสาไฟฟ้าคุณจ่ายแค่ค่ารถลากให้ตัวเองด้วย แต่เมื่อไปชนรถคันอื่นๆ แล้วมีคู่กรณีชนชนิดที่ว่าไม่สามารถขับรถไปอู่รถยนต์เองได้ คุณก็ต้องออกค่ารถลากให้คู่กรณีด้วย
เป็นฝ่ายผิดแต่รถไม่มีประกัน คู่กรณีมีประกันชั้น 1 ทำอย่างไร?

 

     ทาง คปภ. กำหนดอัตราขั้นต่ำในการชดเชยค่าขาดประโยชน์ (สำหรับรถยนต์ที่มีการทำประกัน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562) ดังนี้

รถยนต์ที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 คน (รวมคนขับ) อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
รถยนต์รับจ้างสาธารณะที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 คน (รวมคนขับ) อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
รถยนต์ที่มีที่นั่งเกิน 7 คน (รวมคนขับ) อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท

     *ผู้เสียหายจะต้องแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณา เช่น ใบนำรถยนต์เข้าซ่อม ใบเคลมสำเนาทะเบียนรถ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาใบขับขี่ หลักฐานการเช่ารถในระหว่างซ่อม ใบเสร็จค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน เป็นต้น

     *ผู้เสียหายต้องทำหนังสือแจ้งความประสงค์เรียกร้องค่าเสียหายไปยังบริษัทประกันคู่กรณี เพื่อให้ทางบริษัทประกันพิจารณาและดำเนินการชำระค่าสินไหมให้ (รวมไปถึงค่าเสื่อมราคาและค่าทำขวัญ)

 

     สรุป ก็คือ ค่ารักษาพยาบาลหรือค่าอื่นๆ ที่เราได้จากบริษัทประกันของคู่กรณี ที่สามารถตรวจสอบได้และทำจ่ายตามจริงแก่เรา โดยเรื่องนี้สามารถให้เจ้าหน้าที่บริษัทประกันภัยไกล่เกลี่ยได้เลย แต่ขอบอกไว้ก่อนนะครับว่า “ค่าทำขวัญไม่ได้มีระบุไว้ในกฎหมาย” แต่ถ้าถูกเรียกร้องค่าทำขวัญในกรณีที่คุณเป็นฝ่ายผิดจากอุบัติเหตุรถชนแล้วอยากจ่ายให้กับคู่กรณีก็สามารถได้เลย โดยจ่ายเป็นค่าเสียหายตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันรถยนต์ เช่น ค่ายานพาหนะเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , คมชัดลึก