สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และภาคีเครือข่ายได้เน้นย้ำรณรงค์ช่วงเทศกาลวัน “ปีใหม่ 2568” โดย “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย”
ในทุกปีช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่าสาเหตุหลักของการเสียชีวิตเกิดจากการดื่มแล้วขับมากถึง 23.16% แอลกอฮอลล์หลังถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลต่อสื่อประสาท สูญเสียการควบคุมการเคลื่อนไหวทรงตัว ถ้าได้รับแอลกอฮอล์ปริมาณมากจะกดการหายใจ ทำให้รู้สึกตัวน้อยลง และยังทำให้ตัดสินใจช้าลง เหยียบเบรกไม่ทัน
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 จากสถิติตัวเลขความสูญเสียในช่วงเทศกาลปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง พบว่า
- ปี 2565 เกิดอุบัติเหตุ 2,707 ครั้ง บาดเจ็บ 2,672 คน เสียชีวิต 333 ราย
- ปี 2566 เกิดอุบัติเหตุ 2,440 ครั้ง บาดเจ็บ 2,437 คน เสียชีวิต 317 ราย
- ปี 2567 เกิดอุบัติเหตุ 2,288 ครั้ง บาดเจ็บ 2,307 คน เสียชีวิต 284 ราย
การเมาแล้วขับ ถือเป็นพฤติกรรมที่อันตรายและมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของตัวผู้ขับขี่เองและผู้อื่นบนท้องถนน จึงต้องมีกฏหมายเมาแล้วขับออกมาเพื่อใช้ควบคุมนักดื่มทั้งหลาย มีโทษตั้งแต่การปรับการถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ และโทษจำคุก
การดื่มส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขับขี่
- มองไม่เห็นคนข้ามถนน แอลกอฮอล์ส่งผลต่อการโฟกัสของดวงตา
- สมองสั่งเบรกไม่ทัน แอลกอฮอล์ทำให้การส่งต่อข้อมูลจากสมองสู่อวัยวะส่วนอื่นช้าลง
- ตัดสินใจผิดพลาด แอลกอฮอล์ส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจเมื่อเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า
- ง่วงซึม หลับใน แอลกอฮอล์ทำให้ประสาทเฉื่อยชา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักข่าวสร้างสุข (สสส.)
ตามกฏหมายไทย ผู้ขับขี่รถยนต์ในขณะที่ร่างกายมีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฏหมายกำหนด จะต้องรับโทษปรับ
1.ผู้ที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
- จำคุกไม่เกิน 1 ปี
- ปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทัง้ปรับ
- พักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
2.ผู้ที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
- กรณีผู้ขับขี่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือ ผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (ใบอนุญาตแบบ 2 ปี) ถือเป็น “ผู้เมาสุรา”
ค่าปรับไม่ได้มีจำนวนที่ตายตัว เพราะว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น
- ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด: ยิ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูง โทษปรับก็จะยิ่งสูงขึ้น
- ความรุนแรงของเหตุการณ์: หากเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โทษปรับจะสูงขึ้นอย่างมาก
- ประวัติการกระทำผิด: ผู้ที่มีประวัติการกระทำความผิดซ้ำ อาจได้รับโทษปรับที่สูงขึ้น
วิธีป้องกันการเมาแล้วขับ
- ไม่ดื่มสุราขณะขับรถ: เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ
- มีผู้ขับขี่ที่ไม่ดื่ม: หากจะไปสังสรรค์ ควรมีผู้ร่วมเดินทางที่ไม่ดื่มสุราเป็นคนขับรถ
- ใช้บริการขนส่งสาธารณะ: การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ รถแท็กซี่ หรือเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการขับรถเองหลังจากดื่มสุรา
- กำหนดคนขับ: ก่อนออกไปสังสรรค์ ควรกำหนดคนขับไว้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันปัญหาการดื่มสุราของคนขับ
- ร่วมรณรงค์: ร่วมมือกันรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงอันตรายของการเมาแล้วขับ
การขับขี่อย่างปลอดภัยเป็นหน้าที่ของทุกคน การไม่เมาแล้วขับ ไม่เพียงแต่เป็นการปกป้องชีวิตของตนเอง แต่ยังเป็นการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย