โรคตาแดง…
เป็นโรคระบาดทางตาที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝนสามารถติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ คือ เชื้อไวรัสแบคทีเรีย ปรสิต การอักเสบของเยื่อบุตา จากการติดเชื้อไวรัส เป็นกลุ่มอาดิโนไวรัสส่วนใหญ่จะติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วยที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดต่อที่ตาโดยตรง หรือการรับประทานอาหารร่วมกันโดยจะเกิดอาการภายใน 1–2 วัน ระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 1-4 วัน
อาการของโรคตาแดงอาจเกิดกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือ ทั้งสองข้าง แต่ในกรณีที่เป็นสองข้าง ผู้ป่วยอาจจะเริ่มมีอาการที่ดวงตาข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงลามไปอีกข้างภายใน 2 - 3 วัน โดยอาการที่พบได้แก่
- ตาแดง
- ปวดเล็กน้อยในเบ้าตา
- คันตา เคืองตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา
- น้ำตาไหล
- เปลือกตาบวม อาจพบตุ่มเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป
- ในกรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จะมีขี้ตามากทำให้ลืมตายากในช่วงตื่นนอน
ระยะเวลาของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่พบได้คือ ระยะที่อาการตาแดงเริ่มดีขึ้น ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกระจกตาอักเสบจากเชื้อไวรัสที่ลุกลามไปยังกระจกตา ส่งผลให้มีอาการตาพร่ามัว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการตามัวอาจคงอยู่นานถึง 1 - 2 เดือน
"ไซยาไนด์" คืออะไร? อันตรายแค่ไหน! อ่านเพิ่มเติม คลิก!
การติดต่อของโรคตาแดง
โรคตาแดงติดต่อได้ง่าย และรวดเร็ว โดยเฉพาะในสถานที่หรือบริเวณที่มีคนอยู่รวมกัน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน เป็นต้น
- การสัมผัสหรือใช้ของร่วมกันในครัวเรือนที่มีผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน
- การสัมผัสพื้นผิวในที่สาธารณะที่มีเชื้อโรคจากผู้ป่วย เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์ เบาะที่นั่ง
- การสัมผัสเชื้อโรคจากแหล่งน้ำ ฝุ่น โคลนในธรรมชาติ
การรักษาโรคตาแดง
สามารถหายได้เองภายในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยอาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อลดอาการระคายเคือง หรือประคบเย็นเพื่อลดการอักเสบได้
- การให้ยาปฏิชีวนะชนิดหยอดและป้าย เพื่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อปรสิต
- หากเป็นจากเชื้อไวรัสไม่มียารักษาโดยเฉพาะ อาจใช้ยาปฏิชีวนะหยอด เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำเติมจากแบคทีเรีย
- สวมแว่นกันแดดหากมีอาการเคืองตา แพ้แสง
- ไม่ปิดตา และไม่ต้องล้างตา
- หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษา
ส่วนอาการร่วมอื่นๆ เช่น มีไข้ เจ็บคอ แพทย์จะรักษาตามอาการ รวมถึงให้ยาหยอดฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย หากมีอาการที่รุนแรง ดังนี้
- ปวดตามาก จนถึงขั้นปวดรุนแรง
- สายตาพร่ามัว ตาไม่สู้แสง
- ตาแดงจัด
- มีจุดขาวเล็กๆ ที่กระจกตานานนับเดือน
ควรพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด ในกรณีที่พบการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ทีมีความรุนแรง แพทย์จะรักษาโดยการให้ยาต้านไวรัส
ผลกระทบต่อร่างกายจาก ฝุ่น PM2.5 อ่านเพิ่มเติม คลิก!
การป้องกันการติดเชื้อ
- ล้างมือให้สะอาดอยู่สม่ำเสมอ
- ไม่คลุกคลี ใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
- ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
- อย่าปล่อยให้มีแมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา
- หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่ายกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนปลอกหมอน ให้สะอาดอยู่เสมอ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ / โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย