โรคฝีดาษลิง หรือ โรคฝีดาษวานร (Monnkeypox Virus) เริ่มมีการแพร่ระบาดกันมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้หลายท่านเริ่มกังวลใจ และสาเหตุมาจากอะไร อาการน่ากลัวขนาดไหน มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ยิ้มได้ประกันภัย จะพาไปทำความรู้จักกันครับ
โรคฝีดาษลิง หรือ โรคฝีดาษวานร (Monnkeypox Virus)
เป็นโรคที่พบการระบาดครั้งแรกเมื่อ 60 ปีก่อน มีถิ่นกำเนิดในประเทศคองโก โดยพบการติดเชื้อของสัตว์ตระกูลลิงในห้องแล็ป นอกจากนี้ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ อย่างพวก หนู กระรอก กระต่าย เป็นโรคตระกูลเดียวกับฝีดาษที่เกิดขึ้นในคน หรือไข้ทรพิษ
โดยแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ
- สายพันธุ์แอฟริกากลาง มีความรุนแรงมาก อาจถึงขั้นเสียชีวิต
- สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ ณ ขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ จำนวน 1 ท่าน และผู้มีสัมผัสเสี่ยงสูง 2 รายแรกตรวจแล้วไม่พบเชื้อ ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลก โอกาสแพร่เชื้อต่ำเว้นสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง แต่ก็ยังถือเป็นกลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะฉะนั้นผู้ที่เดินทางกลับจากแอฟริกา หรือสัมผัสกับสัตว์ป่าต่างถิ่นมา หากมีอาการดังกล่าว หรือพบอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที
การติดต่อของโรคฝีดาษลิง
สามารถแพร่กระจายได้ง่าย แบ่งออกเป็น
1.การติดต่อจากสัตว์สู่คน
- สัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ติดเชื้อ
- ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือข่วน
- กินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ และปรุงสุกไม่เพียงพอ
2.การติดต่อจากคนสู่คน
- สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทางสารคัดหลั่ง จากผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรือละอองฝอยจากการหายใจ
- มีอาการป่วยประมาณ 2 - 4 สัปดาห์
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายจากโรคเองได้ อาการรุนแรงมักพบในเด็ก ขึ้นกับปริมาณไวรัสที่ได้รับ
ระยะฟักตัว และอาการของโรคฝีดาษลิง
ระยะเวลาฟักตัว (ช่วงเวลาตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงเริ่มแสดงอาการ) ของโรคฝีดาษลิงมีตั้งแต่ 7 - 21 วัน โดยอาการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
- ระยะก่อนออกผื่น ประมาณ 0 - 5 วัน จะมีไข้ ,ปวดศีรษะมาก ,ต่อมน้ำเหลืองโต ,ปวดหลัง ,ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียมาก ภาวะต่อมน้ำเหลืองโตเป็นลักษณะเด่นของโรคฝีดาษลิง เปรียบเทียบกับโรคอื่นที่อาจแสดงอาการแรกเริ่มคล้ายกันเหมือน อีสุกอีใส หัด และฝีดาษ
- ระยะออกผื่น ปกติเริ่มภายใน 1 - 3 วันหลังจากเริ่มมีไข้ ตุ่มผื่นมักขึ้นหนาแน่นบนใบหน้าและแขนขามากกว่าลำตัว โดยผื่นจะมีขนาด 2 - 10 มิลลิเมตร ในช่วง 2 - 4 สัปดาห์ต่อมา สามารถเกิดตุ่มผื่นได้ทั้งใบหน้า ,ฝ่ามือฝ่าเท้า ,เยื่อบุช่องปาก ,อวัยวะเพศ ,เยื่อบุตา และกระจกตาก็ได้รับผลกระทบด้วย
โดยผื่นเริ่มจากผื่นแดง จากนั้นค่อยๆ เป็นผื่นนูนแบบตุ่มแข็งเล็กน้อย กลายเป็นถุงน้ำ มีของเหลวใสบรรจุอยู่ภายใน เกิดตุ่มหนอง และเป็นฝีจนตุ่มหนองแตกและแห้งเป็นสะเก็ด
การป้องกันโรคฝีดาษลิง
- หลีกเลี่ยงสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์
- กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำเปล่า หรือแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
- เฝ้าระวังอาการ 21 วันหลังกลับจากประเทศเขตติดโรค
- สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่
ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงอาจจะดูไกลตัวเรามากๆ แต่การป้องกันและทำความรู้จักโรคดังกล่าวเบื้องต้นไว้ดีกว่านะครับ เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่ยังสามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษเพราะยังสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85% เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามการดูแลตัวเองให้สุขภาพดีและรักษาความสะอาดอยู่เสมอด้วยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค