กฎหมาย PDPA เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2565 กลับมีอีก 1 ประเด็นที่หลายท่านยังสงสัย นั่นคือ กรณีที่ติด “กล้องหน้ารถ” หากมีการถ่ายติดผู้อื่นมาโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม จะผิดกฏหมาย PDPA หรือไม่ ยิ้มได้ประกันภัยมีคำตอบมาให้ทุกท่านทราบกันครับ
PDPA พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ วันที่ 1 มิถุนายน โดย พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือชื่อย่อ PDPA (Personal Data Protection Act) ถูกออกแบบมาเพื่อคุ้มครองประชาชน ปกป้องข้อมูลส่วนตัวทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดต่อเรื่องหลักการเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลคือจะเป็นมาตราการที่ห้ามใช้ ห้ามบันทึก ข้อมูลของคน แต่ที่จริงแล้ว หลักการคือให้นำไปใช้เท่าที่จำเป็นปลอดภัย และโปร่งใสเท่านั้น
ติดกล้องหน้ารถยนต์ ผิดกฏหมาย PDPA หรือไม่
ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบุไว้ว่า การบันทึกภาพจาก “กล้องหน้ารถ” ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการใช้ส่วนตัวหรือไม่และต้องระวังด้วยว่าการใช้ส่วนตัวมีโอกาสละเมิดสิทธิคนอื่นไหม ซึ่งการติดกล้องหน้ารถไม่ได้ละเมิดสิทธิคนอื่น เพราะมีไว้เพื่อบันทึกหลักฐานในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์สุดวิสัย สามารถนำภาพเหล่านั้นไปใช้เป็นหลักฐานในทางกฎหมายได้
แต่จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อภาพที่ติดกล้องหน้ารถถูกนำไปเผยแพร่นอกเหนือจากการเอามาใช้เพื่อยืนยันความผิดของตนเอง หรือเอาไว้ยืนยันทางกฎหมาย ตอนเอาไปเผยแพร่อาจจะนำมาซึ่งปัญหาได้
ยกตัวอย่างเช่น: หากจับภาพท้องถนน รถยนต์ ต้นไม้ และรถยนต์วิ่งผ่านไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีความตั้งใจและไม่มีเจตนาทำให้ผู้อื่นเสียหาย แต่เพียงจับภาพไว้เพื่อรักษาความปลอดภัยและระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดใดๆ และไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องนะครับ
4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
1.การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอม จะผิด PDPA หรือไม่?
กรณีถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่นโดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่มีเจตนา และไม่ได้ไปก่อความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว
2.หากนำรูปถ่ายหรือวีดีโอไปโพสต์โซเชียลมีเดีย โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม จะผิด PDPA หรือไม่?
สามารถโพสต์ได้ แต่หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช่แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
3.ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPA หรือไม่?
การติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน
4.เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้
ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว
(1) เป็นการทำตามสัญญา
(2) เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ
(3) เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล
(4) เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
(5) เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
(6) เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง
ข้อมูลจาก PCDC Thailand
สรุป..
ความผิดของ PDPA ในกล้องติดรถยนต์ เมื่อต้องการโพสต์ภาพหรือวีดีโอจากกล้องติดรถยนต์ลงโซเชียล สิ่งที่คุณต้องคำนึงถึงคือภาพหรือวีดีโอเหล่านั้นมีข้อมูลต่างๆขอผู้อื่นหรือไม่ เช่น ใบหน้าบุคคล เลขทะเบียนรถ เบอร์โทรศัพท์ บ้านเลขที่ หรือใดๆก็ตามที่สามารถนำข้อมูลทำให้เกิดความเสียหายได้ เพราะหากมีข้อมูลภาพหรือวีดีโอเหล่านี้จะมีความเสี่ยงในการทำให้บุคคลในวีดีโอเหล่านั้นเสียหายได้ และถ้าหากไม่มี ก็สามารถลงได้ตามปกติ หรือทำการเบลอข้อมูลต่างๆ ของผู้อื่นได้ และ ดร.ปริญญา หอมเอนก ยังได้เน้นย้ำว่า “กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่า ห้ามถ่ายรูปติดคน,ห้ามถ่ายวีดีโอติดคน” แต่กฎหมายได้ระบุไว้ว่า หากมีข้อมูลใดๆ ที่เราบันทึกไว้ในภาพหรือวีดีโอและหากจะนำไปใช้ ควรจะขออนุญาตบุคคลในภาพก่อน หรือหากมีความสุ่มเสี่ยงมากเกินไปก็ไม่ควรจะนำไปลงในที่สาธารณะนะครับ