หลายท่านอาจจะเคยได้ยินข่าวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามสื่อหรือเคยเจอกับตัวมาบ้างแล้ว และรู้หรือไม่ว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้มักจะมีรูปแบบการพูดให้เหยื่อหลงเชื่อและโอนเงินให้ ทั้งนี้ควรศึกษากลโกงของมิจฉาชีพเอาไว้เพื่อเป็นเกราะป้องกันที่จำเป็นที่ควรมี
กลุ่มเป้าหมายของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
แบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังต่อไปนี้
- คนยากจน คนตกงาน คนที่มีฐานะทางการเงินที่ดี
- คนมีฐานะ มีเงินเก็บ คนที่ไม่ค่อยตามข่าวสาร โดยเหยื่อจะไม่จำกัดเพศ วัย การศึกษา
3 วิธีการหลอกของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
1.เนื้อหาที่ใช้ในการสนทนา
ซึ่งเนื้อหาในการสนทนาจะเกี่ยวกับเรื่องเงินเป็นหลัก เช่น ถูกรางวัล แต่ต้องให้โอนเงินเพื่อจ่ายภาษีก่อน ซึ่งมิจฉาชีพจะใช้รูปแบบประมาณนี้ หรือมาในรูปแบบขอข้อมูลส่วนบุคคลของเหยื่อ เช่น หมายเลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขบัตรเครดิต เลขสมุดบัญชี เป็นต้น และมิจฉาชีพจะทำการโน้มน้าวให้เหยื่อตกใจ หรือกระตุ้นทำให้เกิดความโลภแล้วรีบเร่งให้เหยื่อให้ข้อมูลส่วนตัวแบบไม่ทันตั้งตัว
2.เครื่องมือในการหลอกลวง
แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะติดต่อเหยื่อผ่านทางข้อความเสียงอัตโนมัติ ซึ่งคนร้ายจะแอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่สรรพากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ โดยบทสนทนาที่มักจะโดนกันบ่อยๆ เช่น มีของผิดกฏหมายค้างอยู่ ต้องรีบโอนเพื่อไม่ให้โดนจับใครที่เจอแบบนี้ให้เชื่อไว้เลยว่ามิจฉาชีพแน่นอน
3.หมายเลขโทรศัพท์
โดยจะใช้หมายเลขโทรศัพท์จริงของหน่วยงานที่แอบอ้างแต่จะใช้เทคโนโลยีแปลงสัญญาณโทรศัพท์เป็นหมายเลขของหน่วยงานที่แอบอ้าง หรืออาจใช้หมายเลขที่ไม่สามารถติดต่อกลับได้ หรือเป็นหมายเลขจากต่างประเทศ เพื่อให้ยากต่อการจับกุม และให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นการติดต่อมาจากหน่วยงานจริง
วิธีการรับมือกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์
หลายท่านที่เคยโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอกมีวิธีการรับมือที่แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยโดน สามารถรับมือได้ดังต่อไปนี้
- ตั้งสติก่อนรับสายทุกครั้ง ตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ให้แน่ชัดก่อนรับสาย
- โปรดจำไว้ว่า สถาบันการเงินและภาคราชการไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลทางโทรศัพท์
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเรามีความเกี่ยวพันอย่างไรกับการหลอกลวงนี้หรือไม่
- ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวใดๆ และรีบวางสายให้เร็วที่สุด
- หลังวางสายให้ตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานหรือสถาบันที่ถูกแอบอ้างทันที
- หากพลาดพลั้งเป็นเหยื่อให้ติดต่อไปยังสถาบันการเงินเพื่อระงับหรือขอความช่วยเหลือทันที
หากพลาดท่าให้กับมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำอย่างไร?
ตั้งสติ และรวบรวมข้อมูล หลักฐาน และเอกสารที่เกี่ยวข้องติดต่อสถาบันการเงิน และติดต่อธนาคารที่ทำบัญชีเอาไว้เพื่อระงับการบัญชีไม่ให้นำเงินออกไปได้ รวมไปถึงแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งเบาะแสกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อทำการตรวจสอบและบล็อกเบอร์เหล่านั้น
|
ทั้งนี้ การที่มีข้อความ SMS เข้ามา หรือ เบอร์แปลกโทรเข้ามา ควรตั้งสติและพิจารณา หรือดูลักษณะการคุย และไม่ควรกดลิงก์ที่ไม่รู้จักหรือให้ข้อมูลส่วนตัวนะครับ